ใจบันดาลจีน จีนบันดาลใจ “เมื่อฉันหลงรักอาหารจีน”《当我爱上了中国菜》
大家好!吃饭了吗?สวัสดีค่าทุกคน ทานข้าวหรือยังคะ เฟินเป็นคนหนึ่งที่เวลาไปต่างประเทศจะชอบอาหารของประเทศนั้นๆอยู่เรื่อยไป ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นคนกินเก่ง หรือเพราะอาหารของบ้านเมืองเขาอร่อยจริงๆไม่แพ้กับอาหารในบ้านเรา และเมื่อพูดถึงอาหารจีนในความทรงจำตอนที่เราเป็นเด็กเพื่อนๆ คิดถึงเมนูอะไรกันบ้างคะ? ก๋วยเตี๋ยว? ซาลาเปา? ขนมจีบ? เป็ดปักกิ่ง? ฯลฯ อาหารเหล่านั้นเป็นอาหารที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว เนื้อหาในวันนี้แน่นอนว่าไม่เกี่ยวกับอาหารข้างต้นอย่างแน่นอน เพราะในวันนี้เฟินจะมาพูดถึงอาหารจีนจริงๆ ที่เคยได้ไปสัมผัสด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของตัวเองที่เมืองจีนแผ่นดินใหญ่มาค่ะ ซึ่งต้องขอออกตัวก่อนเลยว่าหลงรักอาหารจีนมากจนกลับมาไทยก็ยังต้องลองทำอาหารจีนแบบผิดๆ ถูกๆด้วยตัวเอง
อาหารจีนจริงๆแล้วมีทุกประเภทตั้งแต่ ทอด ผัด ตุ๋น ต้ม นึ่ง หมัก ดอง ตากแห้งก็มี จริง ๆ แล้วก่อนที่จะไปจีนเพื่อนคนจีนเคยเปรยๆให้ฟังว่า ถ้าได้ไปกินอาหารจีนแบบจีนจริงๆ อาจหลงรักอาหารจีนไปเลยก็ได้ เฟินก็เลยศึกษาลักษณะของอาหารจีนตามท้องถิ่นต่างๆ คือรายการ Bite of China เพื่อนๆ คนไหนที่ยังๆไม่เคยดูบอกเลยว่าต้องลองดูสักตอนแล้วจะหยุดดูไม่ได้เลยจริง ๆ ค่ะ รายการนี้นับว่าเป็นรายการแรกที่เปิดโลกทัศน์ใหม่ ๆ เกี่ยวกับอาหารจีนจากที่เราเคยรู้จักไปโดยสิ้นเชิง เป็นสารคดีที่เผยแพร่วัฒนธรรมด้านอาหารของจีนได้อย่างทรงคุณค่า (ประเทศไทยควรมีรายการแบบนี้เพราะบ้านเราก็มีอาหารแบบหลากหลายมากเหมือนกัน) และยิ่งไปกว่านั้นเฟินได้พบว่า จริง ๆ แล้วอาหารไทยและอาหารจีนหลายอย่างมีความใกล้เคียงกันมาก ๆ บางเมนูโพล่ในรายการ เฟินก็งงว่า เอ้า นี่มันอาหารไทยไม่ใช่หรอ! ตัวอย่างเช่น ผัดหน่อไม้ใส่ไก่ ขนมข้าวซอย ขนมไข่หงส์ ฯลฯ พอมาตอนที่ฝึกสอนได้สืบค้นเพื่อเขียนบทความให้นักเรียนใช้อ่านประกอบการอ่านคิดวิเคราะห์เรื่อง “กำเนิดของผัดกะเพรา” ทำให้เฟินต้องเปลี่ยนความคิดไปโดยสิ้นเชิงว่าแท้ที่จริงแล้วเนี่ย เมนูผัดทอดต่างๆ ไทยรับเอาวัฒนธรรมอาหารแบบนี้มาจากประเทศจีนทั้งหมด และที่ช็อคไปกว่านั้น เมนูโปรดของคนไทยที่หนีไม่พ้นส้มตำที่ใช้ครกในการตำ ก็มาจากวัฒนธรรมการตำยาและตำเครื่องเทศของคนจีนเช่นกัน บอกได้เลยว่ารายการนี้ทำให้เฟินต้องร้อง OMG ! โอ้ มาย ก้อดดด อยู่บ่อยๆเลยทีเดียว
เฟินเคยเถียงกับคนๆหนึ่งว่า “ระหว่างอาหารจีนกับอาหารไทยคิดว่าอาหารของชาติไหนที่มีความหลากหลายมากกว่ากัน” เราปฏิเสธไม่ได้เลยนะคะว่าอาหารไทยมีมากมายนับไม่ถ้วน ตอนนั้นเฟินมั่นใจในความคิดของตัวเองมากๆ พอมาภายหลังที่รู้อะไร ๆ มากขึ้น ก็แอบยอมรับอย่างเบาๆว่า อาหารบ้านเรายังมีเยอะไม่เท่า (ขอน้อมคารวะ) เพราะบ้านเขามีเยอะกว่าเราจริงๆ แม้ประเทศไทยที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเบอร์หนึ่งของรสชาติอาหารที่ดีของโลก แต่ถ้าเราได้สัมผัสจริงๆ เราอาจได้พบข้อเท็จจริงบางอย่างว่า จริงๆแล้วผู้ทรงอิทธิพลด้านอาหารมายาวนานตามประวัติศาสตร์ของโลกใบนี้ จะมีผู้ใดสามารถทำลายชนชาติจีนหาได้ไม่ ทั้งนี้เมนูต่างๆ ที่เราได้คิดค้นจนเป็นที่เลื่องชื่อลือชา แต่แรกเริ่มเดิมทีนั้นก็อาจมีที่มาจากวัฒนธรรมอาหารของจีนอีกด้วย อาหารไทยเป็นอาหารที่เราภูมิใจในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่เราต่างรู้ดีกันว่ารสชาติอาหารของเรานั้นอร่อยแค่ไหนในไม่กี่ร้อยปีมานี้ แต่ประวัติศาสตร์ของการทำอาหารของเราอาจไม่สามารถสู้จีนได้เลยหากคนไทยไม่นำภูมิปัญญามาพัฒนาให้เรากลายเป็นที่ยอมรับในเรื่องของอาหารจวบจนทุกวันนี้
ในวันนี้เฟินจะมาแชร์อาหารต่างๆ ที่เคยกินแล้วรู้สึกประทับในหัวใจของเฟินมาบอกเล่าว่าสร้างแรงบันดาลใจในการทำอาหารได้อย่างไรบ้าง เริ่มจากคำถามที่เฟินอยากถามทุกคนว่า เวลาที่ทุกคนจะเริ่มทำอาหาร ทุกคนจะทำอย่างไรเป็นอันดับแรก แน่นอนว่าคิดเมนูที่จะทำจากนั้นก็คิดว่าจะต้องทำอย่างไรโดยอาจจะอิงประสบการณ์หรือเปิดตำราอาหารต่างๆในยูทูปก็ดีในบทความต่างๆก็ดีใช่ไหมคะ สำหรับเฟินแล้วเป็นเด็กที่โดนบังคับให้คอยสังเกตการทำอาหารของที่บ้านอยู่ตลอด (ไม่งั้นจะโดนดุ) เฟินใช้วิธีการอยู่สามอย่างที่เรียกว่า สามดอ ได้แก่ “ดม ดู และเดา” เฟินกินไปพร้อมกับการดมกลิ่นว่าอาหารชนิดนั้นๆน่าจะใช้เครื่องเทศอะไรบ้างในการทำอาหาร จมูกนั้นสำคัญมากกว่าลิ้นและทำให้เรานึกถึงองค์ประกอบของอาหารนั้นๆได้อย่างแม่นยำเพราะเรามีประสบการณ์เรื่องการถูกบังคับให้อยู่ครัวตั้งแต่เด็ก เช่น ได้กลิ่นของข่า ได้กลิ่นของเครื่องเทศที่แปลกไปจากของไทยอย่าง ฮวาเจียว และอบเชย ต่อมาดู ดูว่าในอาหารนั้นๆ มีอะไรประกอบบ้าง ใช้เนื้อสัตว์อะไร ใช้ผักอะไร ใช้วิธีการแบบไหนในการทำอาหาร และในขั้นสุดท้ายคือเดา เดาในที่นี้คือการเดาว่าน่าจะต้องใช้ขั้นตอนในการทำอาหารอย่างไรบ้าง เช่น เอาเครื่องเทศลงก่อน หรือเอาเนื้อสัตว์ลงก่อน เป็นการลองผิดลองถูกด้วยการลงมือทำแบบเดาๆทั้งๆที่ไม่เคยได้ลองทำหรือเคยศึกษามาก่อน อย่างเช่นเมนูของ 麻婆豆腐 หม่าผอโต้ฝุ (ผัดเต้าหู้เสฉวน) เฟินใช้การดมดูและเดาในการทำ ครั้งแรกที่ดมคือได้กลิ่นของฮวาเจี้ยวและความเผ็ดอย่างเล็กน้อยของพริกที่น่าจะผ่านการทอดมา เฟินใช้เป็นผงหั่วกัว ลองเอาไปผัดๆกับเต้าหู้และหมูที่ผ่านการคลุกกับเครื่องเทศน้ำมันและหั่วกัวตี้เลี่ยวมาก่อน จากนั้นก็เอาลงมาตกแต่งให้เหมือนกับเมนูที่เคยกิน จากนั้นเฟินค่อยมาเปิดดูในวิดีโอว่าเฟินทำเหมือนหรือต่างกับเขาอย่างไร ครั้งต่อไปเฟินจะได้ทำให้ถูกต้อง (ภาพนี้เป็นภาพเปรียบเทียบของผัดเต้าหู้เสฉวนที่เคยกินกับการทดลองผัดเองครั้งแรกแบบไม่เคยรู้หรือศึกษามาก่อนว่าต้องทำอย่างไร)
เขาว่ากันว่าคนทีทำอาหารเก่งมาจากการที่เป็นคนกินเก่งและช่างสังเกต เฟินเชื่อเรื่องนี้ค่ะและเฟินมีข้อหนึ่งคือการเป็นคนที่กินเก่งมาก ทุกครั้งที่กินแล้วประทับใจแล้วก็อดไม่ได้ที่อยากจะลองทำกินเองบ้าง นอกจากนี้เฟินยังเมนูอื่นๆที่เป็นอาหารจีนในดวงใจที่ชอบมาก อาหารเมนูแรกก็คือ ผัดมันฝรั่งใส่ไก่ 土豆炒鸡 หน้าตาอาจจะมีความคล้ายกับมัสมั่น แต่อาหารจีนที่ใส่กะทิหาแทบไม่มี (มีบ้างในไห่หนานหรือไห่หลำ)
หมอไฟจีนหรือที่เรียกว่าฮั่วกัว 火锅 ? เราสามารถทำทานเองได้โดยการซื้อตัวก้อนมาจากในอินเตอร์เน็ตแล้วก็ทานโดยการใส่ผักใส่เนื้อใส่มันฝรั่ง (คนจีนนิยมนำมันฝรั่งมาประกอบอาหารเป็นอย่างมาก) เมนูนี้เพื่อนคนจีนสอนทำภายหลังเฟินได้ลองทำให้ที่บ้านทานและนำไปทำให้คณะครูพี่เลี้ยงทานที่โรงเรียนที่ฝึกสอนปรากฎว่าแม่ ๆ ต่างชอบและเราก็กินกันทุกอาทิตย์เลยก็ว่าได้ เราสามารถทำกินเองได้ไม่ต้องไปถึงร้าน
เมนูสุดท้ายคือผัดมะเขือเทศใส่ไข่ นี่เป็นเมนูที่เหมือนไทยก็มีแต่เฟินคิดว่าแบบจีนนี้ก็อร่อยไปอีกแบบสามารถเปลี่ยนคนที่ไม่ชอบทานมะเขือเทศให้กลายเป็นคนที่ชอบมะเขือเทศได้เหมือนกัน นอกจากนี้ยังมีภาพอาหารจีนมาฝากทุกคนเพื่อให้ทุกคนสามารถแยกความแตกต่างจากอาหารจีนแบบเดิมไปได้ว่าอาหารจีนแผ่นดินใหญ่มีหน้าตาต่างจากความเข้าใจไปมาก ถ้าเพื่อนๆหิวก็ต้องรีบไปลองทำทานกันดูนะคะ อิอิ ก่อนจากกันในวันนี้เฟินขอฝากวลีๆ หนึ่งจากรายการจีนที่ว่า …“ 中国拥有众多的人口,也拥有世界上最丰富多元的自然景观。高原,山林,湖泊,海岸线,这种地理和气候的跨度,有助于物种的形成和保存。任何一个国家都没有这样多潜在的食物原材料。人们采集,捡拾,挖掘,捕捞,为的是得到这份自然的馈赠。穿越四季,我们既将看到美味背后,人和自然的故事。
จีนเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก และยังเป็นประเทศที่มีพืชพรรณธัญญาหารจากธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุดของโลกอันกอปรด้วยทิวทัศน์ของธรรมชาติอย่างหลากหลาย, ที่ราบสูง, ป่าเขาสูง ทะเลสาบและแนวชายฝั่งทะเล ด้วยลักษณะของภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เป็นตัวช่วยในการสร้างและอนุรักษ์สายพันธุ์ต่างๆให้คงอยู่ ที่ไม่ว่าประเทศไหนบนโลกใบนี้ต่างก็หาวัตถุดิบของการทำอาหารและทรัพยากรอันมากมายนี้ได้ไม่เทียมเท่า ผู้คนที่เก็บเกี่ยว ขุดค้น ทำการประมง ต่างเพื่อให้สามารถเข้าถึงของขวัญอันสุดพิเศษที่ธรรมชาติมอบให้ ทั้งสี่ฤดูกาล เราจะได้เห็นถึงเบื้องหลังของอาหารอันโอชารส ที่กล่าวถึงเรื่องราวอันงดงามของผู้คนและธรรมชาติไว้ด้วยกัน ” แล้วพบกันใหม่ในบทความใจบันดาลจีนจีนบันดาลใจได้อีกครั้งหวังว่าทุกคนจะได้รับความรู้และเรื่องราวๆใหม่ๆเกี่ยวกับอาหารจีน สำหรับวันนี้สวัสดีค่า 再见 ?